2372 จำนวนผู้เข้าชม |
หากพูดถึงขนม Madeleine เราก็คงนึกถึงขนมสัญชาติฝรั่งเศส ที่มี texture คล้ายๆ พาวด์เค้ก รูปทรงคล้ายหอย ที่แอบละม้ายคล้ายกับขนมไข่เมืองไทย แต่ทว่าการจะทำ Madeleine ให้ออกมามีรูปทรงสวยงามตรงตามแบบแผนของชาวฝรั่งเศสนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย และหนึ่งในปัจจัยสำคัญอันจะทำให้รูปทรงออกมาสวยงามแต่มักถูกมองข้ามไป นั่นก็คือ “แม่พิมพ์ Madeleine”
หนึ่งในแบรนด์ญี่ปุ่นที่เชฟฝรั่งเศสให้การยอมรับ และยอมใช้พิมพ์ที่เป็นสัญชาติเอเชียในการทำขนมอบ นั่นคือ แบรนด์ Chiyoda…แบรนด์นี้ทำได้อย่างไร วันนี้เล็มมีจะเล่าให้ฟังค่ะ
ผู้มาก่อนกาล
ย้อนกลับไปสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นยุคที่ประเทศญี่ปุ่นมีการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ อย่างรวดเร็ว เพื่อฟื้นฟูตนเองจากความเสียหายจากสงคราม ทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ยังไม่ได้มีร้าน Bakery หรือ Cake Shop สไตล์ตะวันตกเกิดขึ้นมากนัก
ในปี 1967 คุณ Kinya Yoshida ซึ่งเป็นเจ้าของโรงงานผลิตอุปกรณ์ที่ใช้บนโต๊ะอาหาร เล็งเห็นว่าในอนาคต ชาวญี่ปุ่นจะมีไลฟ์สไตล์ที่ผสานความเป็นตะวันตกมากขึ้น จะมีการบริโภคขนมปังเพิ่มมากขึ้น และเทรนด์ของขนมจากฝั่งตะวันตก (western confectionery) จะได้รับความนิยมสูงขึ้น เขาจึงเริ่มศึกษาและพัฒนาการผลิตแม่พิมพ์ขนมปัง และแม่พิมพ์ขนมอบ และเริ่มทดลองตลาดในปี 1971 ซึ่งเขาใช้เวลาถึง 2 ปี จึงได้ตั้งบริษัทผลิตแม่พิมพ์ ชื่อ “Chiyoda Metal Industry Co., Ltd.” ขึ้นในปี 1973 พร้อมกับการรับตำแหน่งประธานบริษัทคนแรก จากนั้นได้เปิดตัวแม่พิมพ์เลม่อน "Lemon Cake Mold 25" ออกวางจำหน่ายเป็นครั้งแรก ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากทั่วทั้งประเทศ
คุณโยชิดะ ยังได้พัฒนาแม่พิมพ์ใหม่ๆ ที่ใหม่ทั้งรูปทรง อาทิ แม่พิมพ์ทรงเกาลัด การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการผลิตแม่พิมพ์เช่น การเคลือบ Teflon หรือเคลือบ silicon แน่นอนว่าแม่พิมพ์ Chiyoda ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีเช่นเคย ในส่วนของบริษัทเอง ก็มีการแตกขยายบริษัทลูกอีกหลายแห่ง เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งปี 1985 คุณโยชิดะถึงแก่กรรม จึงได้แต่งตั้ง คุณ Toru Yoshida ขึ้นเป็นประธานคนต่อไป และดำรงตำแหน่งมาถึงปัจจุบัน
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ คุณToru Yoshida ยังคงยึดมั่นคำพูดของท่านประธานคนแรก ที่กล่าวไว้ว่า "เราเป็นร้านขายแม่พิมพ์ขนมแบบตะวันตกที่เชี่ยวชาญด้านขนมแบบตะวันตก" ในคำพูดนี้ หากมองในบริบทของความเป็นเอเชียและประเทศผู้แพ้สงคราม ก็อาจจะทำให้ชาวตะวันตกรู้สึกดูหมิ่น และเหยียดหยาม ว่าชาวญี่ปุ่น จะมาเข้าใจขนมแบบตะวันตกได้ดีกว่าประเทศต้นตำรับได้อย่างไร….แต่แบรนด์ Chiyoda เชื่อว่าพวกเขาทำได้
ผลิตแม่พิมพ์ด้วยความเชื่อ
การผลิตแม่พิมพ์ขนมอบนั้นสามารถทำได้ไม่ยากนัก แม้เป็นโรงงานขนาดเล็กก็สามารถขึ้นรูปแม่พิมพ์ได้ ทำให้ตลาดแม่พิมพ์ถูกบีบด้วยการแข่งขันด้านราคา ยิ่งเทคโนโลยีการปั้มขึ้นรูปและวัสดุที่ใช้ทำแม่พิมพ์ ก้าวหน้ามากขึ้นเท่าใด แม่พิมพ์ก็สามารถถูกปั้มออกมาได้เป็นจำนวนมาก และมีราคาถูกลง
แต่แบรนด์ Chiyoda ไม่ใช้วิธีนั้น เพราะเขายึดมั่นในความเชื่อของผู้ก่อตั้งที่ว่า “เราจะไม่จะผลิตสินค้าในปริมาณมากๆ และพยายามขายมัน แต่เราจะผลิตเฉพาะแม่พิมพ์ที่สามารถอบขนมมออกมาได้สมบูรณ์แบบ เพื่อส่งมอบความพึงพอใจให้กับลูกค้า” จนถึงทุกวันนี้ กระบวนการผลิตแม่พิมพ์ของ Chiyoda ยังคงใช้ช่างฝีมือที่มีประสบการณ์และความชำนาญในการคราฟท์แม่พิมพ์ขึ้นมาทีละชิ้นๆ ราวกับการทำชิ้นงานศิลปะ
เพราะ Chiyoda เข้าใจดีว่า รูปทรงของขนมนั้น มี 3 มิติ เมื่อขนมออกมาจากเตา และถูกเคาะออกจากพิมพ์ รูปทรงทั้ง 3 ด้าน ควรสมบูรณ์แบบ ไม่มีเศษขนมติดอยู่ที่พิมพ์ ไม่ต้องโรยแป้ง ไม่ต้องทางน้ำมันทาเนยเพิ่ม ซึ่งอาจทำให้รสชาติและผิวสัมผัสของขนมเพี้ยนไป ที่สำคัญวัสดุที่ทาง Chiyoda เลือกใช้ ยังเพิ่มความมันเงาให้กับขนม แบบที่ไม่มีแบรนด์อื่นๆ ทำได้
Chiyoda จึงไม่ใช่แค่แบรนด์ผลิตแม่พิมพ์ที่ดีให้กับลูกค้า แต่ยังส่งมอบความสมบูรณ์แบบและความไว้วางใจกับให้คนที่ใช้แบรนด์ Chiyoda เพื่อคนที่ใช้แบรนด์นี้ จะภูมิใจที่ได้ส่งต่อขนมที่มีคุณภาพไปยังลูกค้าของตน
ถึงวันที่ฝันเป็นจริง
การผลิตแม่พิมพ์ให้ออกมาดีสม่ำเสมอนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย การที่แบรนด์ถูกท้าทายด้วยคำพูดแบบปากต่อปากของผู้ใช้งานที่บอกต่อกันว่า “ถ้าคุณใช้แบรนด์ Chiyoda ขนมของคุณจะไม่พัง” ทำให้ทุกๆ วันของการทำงาน เป็นเรื่องของการสั่งสมประสบการณ์ และสร้างมาตรฐานเพื่อตอบสนองความพึงพอใจของลูกค้า
ถึงกระนั้นคุณโยชิดะก็ยังไม่ลืมความฝันของผู้ก่อตั้ง ที่ตั้งมั่นว่าเขาจะทำให้ “คนฝรั่งเศสอบขนมที่มีต้นกำเนิดในฝรั่งเศสด้วยแม่พิมพ์ชิโยดะ”
แล้วความฝันนั้นก็เป็นจริง เมื่อเชฟชาวฝรั่งเศสได้ลองใช้แม่พิมพ์ Chiyoda และถูกใจในคุณภาพ พวกเขาจึงนำแบรนด์ “Chiyoda Kinzoku” ไปเปิดตัวสู่ประเทศฝรั่งเศส จากนั้นคุณภาพของแม่พิมพ์ก็ได้พิสูจน์ศักยภาพของตนเอง โดยที่แบรนด์ ไม่ต้องใช้การตลาดใดๆ จนมีชื่อเสียงในหมู่เชฟชาวตะวันตก และได้รับความนิยมไปทั่วโลกในเวลาไม่กี่ปี รวมถึงได้รับการขนานนามว่า “Chiyoda คือแม่พิมพ์ขนมตะวันตก”
ซึ่งในวันนี้สิ่งที่แบรนด์ Chiyoda ได้รับนั้น เป็นมากกว่าสิ่งที่เคยฝัน เพราะแบรนด์ช็อกโกแลตระดับโลกสัญชาติฝรั่งเศสอย่าง Valrhona ก็ได้มาร่วม collab กับ Chiyoda รังสรรค์ผลงานเป็นเซ็ท Ring Tart ในรูปแบบ Hand Made ที่ไร้รอยเชื่อมต่อ เจาะทุกรูด้วยช่างฝีมือ ในความละเอียดที่เครื่องจักรไม่สามารถทำได้ ทำให้แป้งทาร์ตสามารถคายความชื้นได้มากขึ้น เพิ่มความกรอบอร่อยให้กับตัวทาร์ต เพื่อนำ Ring Tart นี้ ไปใช้ในโรงเรียนสอนทำขนมของ Valrhona ในประเทศญี่ปุ่น
สิ่งต่างๆ แบรนด์ Chiyoda ได้รับกลับมา ไม่ได้ทำให้ความเป็น Chiyoda เปลี่ยนแปลงไป พวกเขามองว่านี่เป็นเพียงผลลัพธ์ส่วนหนึ่ง ที่มาจากการสั่งสมความตั้งใจ ยึดมั่นในความเชื่อที่จะส่งมอบแม่พิมพ์ที่มีคุณภาพให้กับลูกค้า และพัฒนาให้ดีขึ้นในทุกๆ วัน
เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ Chiyoda Mold
แม่พิมพ์ Chiyoda มีความพิเศษ เพราะตัวพิมพ์ (เช่นรูปหอย) กับแผ่น plate จะมีความหนาไม่เท่ากัน ซึ่งมีผลต่อการนำความร้อนไปยังขนม ตัวพิมพ์ที่หนากว่าจะนำความร้อนไปยังขนมได้ดีกว่า ทำให้ผิวขนมสวย ลื่น มัน ขนมไม่ติดพิมพ์ การเชื่อมตัวพิมพ์จะใช้วิธี Spot Welding เชื่อมด้วยมือทีละจุด ไม่ได้ใช้เครื่องจักร แบรนด์ Chiyoda จึงสามารถผลิตแม่พิมพ์รูปทรงต่างๆ แบบ Made-to-order ได้ แต่ก็แลกมาด้วยราคาที่สูงกว่าแม่พิมพ์แบบปั้มขึ้นรูปทั้งแผ่น ซึ่งข้อดีของแม่พิมพ์ Chiyoda อีกหนึ่งเรื่องก็คือคุณภาพของวัสดุ ที่เมื่อโดนความร้อนก็ไม่ทำให้พิมพ์บิดงอ ใช้งานได้ยาวนาน ทางร้านเองและลูกค้าของเราหลายๆ ท่าน ที่ได้ซื้อพิมพ์ Chiyoda ไปใช้ ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “มันว้าวมาก” และถ้าเราใช้งานแล้วรักษาดีๆ ก็สามารถส่งพิมพ์นี้ต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน เพราะมีความทนทานเหมือนแม่พิมพ์ Nordic ของทางฝั่งอเมริกาเลยค่ะ เรียกว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ถ้าใครอ่านแล้วอิน ก็อยากให้มีโอกาสได้ลองซื้อไปใช้จริงๆ ค่ะ
หวังว่าเรื่องราวของแบรนด์ Chiyoda ที่นำมาเล่าให้ฟังในวันนี้คงเป็นแรงบันดาลใจให้เพื่อนๆ ที่ติดตาม Lemmemore ได้มีกำลังใจสร้างสรรค์ขนมอร่อยๆ มีคุณภาพ ในแบบฉบับของตนเอง ซึ่งความเป็นตัวเราเองนั้นจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ให้เราประสบความสำเร็จ เหมือนที่แบรนด์ Chiyoda ทำสำเร็จมาแล้วค่ะ
ขอให้มีความสุขกับการทำขนมอร่อยๆ ให้คนที่คุณรักได้ทานนะคะ
หากสนใจสินค้า คลิกดูได้ที่นี่ค่ะ (ของมีไม่เยอะนะคะ บางช่วงอาจขาดตลาดค่ะ)
หากบทความหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านและต้องการนำไปเผยแพร่หรือแชร์ต่อ ทางร้านขอสงวนสิทธิ์ ไม่อนุญาตให้ copy, ดัดแปลงบทความหรือข้อความใดๆ ของต้นฉบับ แต่ขอให้กดปุ่ม share หรือ redirect ลิงก์ กลับมายังบทความต้นฉบับค่ะ ขอบคุณค่ะ
Reference
https://cki.co.jp/collaborate
https://cki.co.jp/work001
https://cki.co.jp/about